top of page

เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียน กับไม่ได้จดทะเบียน มีสิทธิต่างกันอย่างไร


สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้คุณภาพสินค้าตามเครื่องหมายการค้าที่โฆษณา และเพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงผู้ที่ผลิตสินค้านั้นๆอีกด้วย ซึ่งตรงกับภาษาโดยทั่วไปที่เราเรียกกันว่า ยี่ห้อ โลโก้ หรือ แบรนด์ นั่นเอง เครื่องหมายการค้านี้ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนก็ถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าได้

เมื่อบุคคลใดผลิตสินค้าของตนเองขึ้นและได้ออกแบบเครื่องหมายที่จะใช้แสดงกับสินค้านั้นๆแล้ว ถ้าเจ้าของต้องการให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะต้องนำเครื่องหมายนั้นไปจดทะเบียน ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2543 เพื่อแสดงถึงสิทธิและความเป็นเจ้าของของผู้ที่ได้จดทะเบียน ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์คุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันมิให้ผู้อื่นลอกเลียนหรือปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าอันจะก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ ของตนเองได้

ผลของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายมีดังต่อไปนี้ 1.เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน มีสิทธิป้องกันมิให้บุคคลที่สามทั้งปวงซึ่งมิได้รับความยินยอมจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน (ความตกลง TRIPs ข้อ16 (1)) 2.มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับจำพวกสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ (มาตรา ๔๔) 3.เครื่องหมายการค้า ที่จดทะเบียนแล้วจะมีอายุการคุ้มครอง 10 ปี เมื่อครบกำหนดสามารถที่จะต่ออายุได้เป็นคราว ๆ คราวละ 10 ปี (มาตรา 53) และสามารถต่ออายุได้ตลอดไป 4.มีสิทธิในการทำสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตนและโอนเครื่องหมายการค้าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ (มาตรา 50,51) 5. มีสิทธิฟ้องร้องและเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ในกรณีที่มีผู้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว (มาตรา 46) แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่เราก็ยังได้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของเราได้เสมอ ทั้งนี้โดยพิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และแนวบรรทัดฐานของศาลได้ดังนี้ 1.สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้านั้น ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของตนเองเสมอ เว้นแต่จะมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้านั้นให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเจ้าของที่แท้จริงจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของสิทธิที่ดีกว่าต่อไป แต่หากในขณะนั้นไม่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นให้แก่ผู้ใด เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถแสดงความเป็นเจ้าของและใช้เครื่องหมายการค้าของตนได้โดยชอบธรรม

2.สิทธิในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการค้า สามารถขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ตนได้ใช้มาโดยสุจริต ไม่ว่าจะบุคคลอื่นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกัน ที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ก็ตาม(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2537) มาตรา27 กำหนดให้นายทะเบียนใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าจะเห็นสมควรรับจดทะเบียนโดยมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นที่เห็นสมควรด้วยก็ได้

3.สิทธิคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิร้องคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตาม มาตรา 35 โดยอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น อันเนื่องมาจากการที่ตนได้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวมาก่อนผู้ขอจดทะเบียน โดยเฉพาะหากว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นคัดค้านนั้น ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ด้วยแล้ว หากมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่า มาตรา 41 กำหนดให้นายทะเบียนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นให้แก่ผู้คัดค้านนั้นด้วย

4.สิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามมาตรา 67 กำหนดให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดก็ได้ ภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าซึ่งอาจเนื่องมาจากการที่ได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาก่อนผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น

5.สิทธิในการต่อสู้คดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนสามารถยกเอาเหตุจากการที่ตนได้ใช้เครื่องหมายการค้ามาก่อนโดยสุจริตมาเป็นข้อต่อสู้ในคดีที่ถูกฟ้องว่ากระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2501 และ 2277/2520)

6.สิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการลวงขาย มาตรา 46 วรรค 2 เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลใดซึ่งเอาสินค้าของตนไปทำการลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และหากว่าการลวงขายอันไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า ย่อมถือว่าเป็นการละเมิด ตาม ปพพ.มาตรา 420 ซึ่งเป็นผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้อีกด้วย

7. สิทธิดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายซึ่งคุ้มครองเจ้าของเครื่องหมายการค้า เมื่อพิจารณาถึงสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนกับไม่ได้จดทะเบียนดังได้กล่าวมาแล้วพอสังเขป จะเห็นได้ว่าถึงแม้เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนจะมีช่องทางในการใช้สิทธิฟ้องร้องกับผู้ที่แอบอ้างเอาเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้ทะเบียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดจากการละเมิดเครื่องหมายการค้า เราควรนำเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวและความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเต็มที่นั่นเอง. * พ.ต.ท.มนต์ชัย วัชรบุตร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีทรัพย์สินทางปัญญา

Recent Posts
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page